ขบวนการต่อต้านของพม่า พ.ศ. 2428–2438
การต่อต้านอังกฤษในพม่า พ.ศ. 2428 - 2438 | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
กลุ่มกบฏในพม่า | จักรวรรดิอังกฤษ | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
เจ้าฟ้ามยินซายง์ เจ้าฟ้าช่องกวา เจ้าเตกตินมัต เจ้าเตกตินเธน เจ้าฟ้าชเวโจบะยู จ้าฟ้าบายินกัน เจ้าฟ้าจีมยินดายง์ เจ้าฟ้าเซะต์จา โบส่วย โบยายุ่น อูโอตมะ หลวงพ่อวัดมยันชอง เจ้าฟ้าลิมบิน อูโปซอว์ อูส่วยทา อูอ่องมยัต กอว์นบิก |
Lieutenant Forbes Major Kennedy Captain Beville Lieutenant Eckersley Captain Rolland Major Gordan Lieutenant-General Phayre Captain Dunsford Major Robinson Captain O’Donnell Colonel Skene Brigadier-General Symons |
การต่อต้านอังกฤษในพม่า พ.ศ. 2428–2438 เป็นการต่อต้านที่เกิดขึ้นเกือบจะทันทีหลังจากที่อังกฤษยกทัพขึ้นมาถึงแม่น้ำอิรวดี และพระเจ้าธีบอยอมจำนนต่ออังกฤษเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 หลังจากพม่ายอมแพ้แล้ว ได้เกิดการต่อต้านอังกฤษทั่วไปทั้งในพม่าตอนบน พม่าตอนล่าง เขตเทือกเขาในชาน กะชีน และชีน การต่อต้านนี้สิ้นสุดใน พ.ศ. 2439 [1][2]
จุดที่เป็นชนวนให้เกิดการต่อต้านอังกฤษคือการที่อังกฤษถอดพระเจ้าธีบอออกจากราชบัลลังก์และยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไปในที่สุด อังกฤษได้ขอให้เสนาบดีสภาควบคุมและส่งตัวเจ้านายเชื้อพระวงศ์ออกจากพม่าตอนบน แต่มีบางพระองค์หลบหนีไปได้ และกลายมาเป็นผู้นำขบวนการต่อต้าน[3]
การต่อต้านในพม่าตอนบน
[แก้]เจ้าฟ้ามยินซายง์
[แก้]เจ้าฟ้ามยินซายง์เป็นพระโอรสของพระเจ้ามินดงกับพระนางเละต์ปันซิน เป็นหนึ่งในเจ้าฟ้า 5 พระองค์ที่รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ใน พ.ศ. 2422 พระองค์ได้หลบหนีไปยังเทือกเขาทางตะวันออกของมัณฑะเลย์และเป็นผู้นำกองกำลังชาวพม่าโจมตีทหารอังกฤษด้วยธงเศวตฉัตรและธงมยุราเป็นธงนำทัพและอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ ทำให้ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง[3]
การต่อสู่ครั้งแรกในเขตพม่าตอนบนเกิดขึ้นระหว่าง 18 – 25 ธันวาคม พ.ศ. 2428 ชาวพม่าราว 200 คนนำโดยเจ้าฟ้ามยินซายง์ซุ่มกำลังที่ริมฝั่งแม่น้ำมยิตเงระหว่างหมู่บ้านชเวสะยันไปจนถึงมองต่อว์ และเข้าโจมตีมัณฑะเลย์เมื่อ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2428 เจ้าฟ้ามยินซายง์และผู้สนับสนุนได้โจมตีทหารอังกฤษที่ปาเลตในช่วงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2428 แต่หลังจากที่อังกฤษเข้ามาปราปรามและกดดัน กลุ่มของเจ้าฟ้ามยินซายง์ได้เคลื่อนย้ายลงไปทางใต้ ไปตั้งมั่นที่จอกแส และยังคงต่อต้านอังกฤษต่อไป จอกแสเป็นที่มั่นของเจ้าฟ้ามยินซายง์จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2429 [4]
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2429 นี้ เจ้าฟ้ามยินซายง์วางแผนจะโจมตีมัณฑะเลย์ครั้งใหญ่ โดยร่วมมือกับเจ้าฟ้าไทใหญ่เช่นเจ้าฟ้าเมืองนายและเจ้าฟ้าลอกสอกแต่แผนนี้รั่วไหลไปถึงฝ่ายอังกฤษก่อน พระภิกษุที่ร่วมมือกับเจ้าฟ้ามยินซายง์ 4 รูปคือ อู ทีปะ อู เรวตะ อู โอตมะ อูนันทิยะถูกจับตัวและนำไปกักขังที่เมืองอักยับและย่างกุ้ง ในที่สุด เจ้าฟ้ามยินซายง์ต้องล่าถอยไปยังยวานกันและสิ้นพระชนม์ที่นั่นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2429[5]
เจ้าฟ้าช่องกวา
[แก้]เมื่อกองกำลังของเจ้าฟ้ามยินซายง์โจมตีมัณฑะเลย์ เจ้าซอว์ยานนายง์และเจ้าซอว์ยานปายง์ได้รวบรวมกำลังขึ้นที่ช่องกวา ทำให้ทั้งสองพระองค์เป็นที่รู้จักในนามเจ้าฟ้าช่องกวา กองทัพของเจ้าฟ้าช่องกวาได้มาร่วมสนับสนุนเจ้าฟ้ามยินซายง์ และในแผนการณ์โจมตีเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2429 ของเจ้าฟ้ามยินซายง์นั้น กองกำลังของเจ้าฟ้าช่องกวามีแผนจะมาร่วมสมทบด้วยแต่ถูกฝ่ายอังกฤษจับได้เสียก่อน กลุ่มของเจ้าฟ้าช่องกวายังคงต่อสู้ต่อมา และมีแผนจะอภิเษกเจ้าซอว์ยานนายง์ขึ้นเป็นกษัตริย์ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2429 แต่อังกฤษสืบรู้และบุกเข้าจับกุมคนสำคัญระดับหัวหน้าได้[3] เจ้าซอว์ยานนายง์ถูกจับกุมใน พ.ศ. 2430 และถูกส่งตัวมายังย่างกุ้ง[6]ส่วนเจ้าซอว์ยานปายง์หนีไปยังเขตเทือกเขาชานและได้หลบหนีไปอยู่ในประเทศจีนในที่สุด
โอรสของเจ้าฟ้ากะหน่อง
[แก้]ในช่วงเวลาเดียวกันคือเดือนธันวาคม พ.ศ. 2428 โอรสของเจ้าฟ้ากะหน่อง 2 องค์คือเจ้าเตกตินมัตกับเจ้าเตกตินเธนได้หนีออกจากมัณฑะเลย์[3] และได้รวบรวมกำลังคนไปตั้งมั่นที่ชเวโบ และเข้าโจมตีชเวโบเมื่อ 23 ธันวาคม อังกฤษส่งทหารไปปราบปรามอย่างต่อเนื่องและเกิดการปะทะครั้งใหญ่เมื่อ 12 มกราคม พ.ศ. 2428 ผลจากการสู้รบปรากฏว่าฝ่ายพม่าเป็นฝ่ายแพ้ล่าถอยไป เจ้าเตกตินเธนสิ้นพระชนม์ ส่วนเจ้าเตกตินมัตยังคงสู้ต่อไปโดยนำกองกำลังขึ้นเหนือไปเรื่อย ๆ โดยไปร่วมมือกับ โบ หล่า อู และซีงูเมียวหวุ่น โป ปยัน จี หลังจากถูกอังกฤษโจมตีอย่างต่อเนื่อง เจ้าเตกตินมัตหนีไปทางเหนือ และต่อสู้ต่อมาจนป่วยและสิ้นพระชนม์เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2430[7]
เจ้าฟ้าชเวโจบะยู
[แก้]เจ้าฟ้าชเวโจบะยูเป็นผู้หนึ่งที่อ้างเป็นเชื้อพระวงศ์ในการรวบรวมกำลังต่อต้านอังกฤษ แต่ความเป็นมาของพระองค์ไม่เด่นชัด ก่อนมัณฑะเลย์แตก พระองค์เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในบังคับอังกฤษประจำแขวงธะเยะต์เมียว[3] เมื่อมัณฑะเลย์แตก จึงหนีไปรวบรวมกำลังผู้คน โดยตั้งมั่นที่ กันเล ใกล้เทือกเขาปอนดอง มีอิทธิพลในเขตปะจีและปะขันจี เมื่อถูกอังกฤษปราบปรามหนักขึ้น จึงหลบหนีไปยังภูเขาชีนใน พ.ศ. 2430[8]
เจ้าฟ้าบายินกัน
[แก้]ในช่วงเวลาเดียวกับที่เจ้าฟ้าชเวโจบะยูได้รวบรวมกำลังต่อต้านอังกฤษ เจ้าฟ้าบายินกันได้จัดตั้งขบวนการต่อต้านในมัณฑะเลย์ ต่อมาได้เคลื่อนขึ้นเหนือไปยังสะกายง์[9] ต่อมา ใน พ.ศ. 2430 ได้เคลื่อนย้ายไปยังปะจีเพื่อร่วมมือกับเจ้าฟ้าชเวโจบะยู อังกฤษส่งกำลังไปปราบเมื่อ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2430 การปะทะเกิดขึ้นอย่างดุเดือด เจ้าฟ้าบายินกันเสียชีวิตในการสู้รบครั้งนี้
เจ้าฟ้าจีมยินดายง์
[แก้]ใน พ.ศ. 2428 เจ้าฟ้าจีมยินดายง์ได้เริ่มจัดตั้งขบวนการต่อต้านของตนที่อาวา ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2428 กองกำลังของเขาซุ่มโจมตีทหารอังกฤษที่เดินทางระหว่างปะกันไปยังยะเมทิน พระองค์นำกำลังไปรวมกับผู้นำท้องถิ่นคนอื่น ๆ แล้วเคลื่อนพลลงใต้ มีเป้าหมายในการเข้าไปรบกวนการสื่อสารของทหารอังกฤษที่ปยินมานา อย่างไรก็ตาม อังกฤษได้โจมตีฐานทัพของพระองค์เมื่อ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2429 เจ้าฟ้าถอยหนีไปยวานกัน เมื่ออังกฤษตามไปโจมตีอีก พระองค์ได้ต่อสู้กับอังกฤษจนสิ้นพระชนม์[10]
เจ้าฟ้าเซะต์จา
[แก้]เจ้าฟ้าเซะต์จาเริ่มรวมกำลังต่อต้านในมัณฑะเลย์ก่อนจะเคลื่อนย้ายไปยังมเยลัตที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจอกแสเมื่อ พ.ศ. 2430 กองทัพของพระองค์โดดเด่นขึ้นหลังเจ้าฟ้ามยินซายง์สิ้นพระชนม์ ต่อมากองทัพของพระองค์ถูกบีบจนต้องถอนตัวออกไปทางตะวันออกใน พ.ศ. 2431 ต่อมา พระองค์ถูกเจ้าฟ้าลอกสอกจับตัวส่งให้อังกฤษและถูกประหารชีวิต[11]
โบส่วย
[แก้]โบส่วยเป็นเชื้อสายของขุนนางตำแหน่งถุจีหรือนายบ้านได้เป็นผู้นำในการต่อต้านอังกฤษคนหนึ่ง เขาจัดตั้งกองกำลังในเขตมินบู ระหว่างแม่น้ำอิระวดีและยะไข่ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2428 โบส่วยได้โจมตีสถานีตำรวจในแนวชายแดนตะวันตกและเคลื่อนย้ายไปยังเมืองมาลุนใน พ.ศ. 2429 เขาถูกปราบปรามจนต้องย้ายไปตั้งมั่นในอาระกันโยมา โบส่วยรวบรวมกำลังได้อีกครั้ง ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2429 เข้าโจมตีทหารอังกฤษอีก และถูกบีบจนต้องถอนตัวไปเมืองยอว์ ฝ่ายอังกฤษตั้งค่าหัวโบส่วยถึง 1,000 รูปี เนื่องจากกองกำลังของโบส่วยเป็นกองกำลังที่สำคัญและเคยชนะทหารอังกฤษที่ปาเดน อังกฤษพยายามปราบปรามและเกลี้ยกล่อมโบส่วย ตลอด แต่โบส่วยไม่ยอมอ่อนน้อม โบ ส่วยได้ต่อสู้อังกฤษจนตัวตายที่มิลันกอน เมื่อ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2430[3]
โบยายุ่น
[แก้]โบยายุ่นเป็นหัวหน้าทหารม้าในมยินจัน ได้จัดตั้งกองกำลังต่อต้านอังกฤษระหว่าง พ.ศ. 2430 – 2431 อังกฤษพยายามเกลี้ยกล่อมให้โบยายุ่นมอบตัวแต่เขาปฏิเสธ กองทัพของเขาถูกอังกฤษตีแตกเมื่อ พ.ศ. 2433 และเขาถูกจับเมื่อ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2433[3]
อูโอตมะ
[แก้]ใน พ.ศ. 2428 หลังจากได้รับคำสั่งจากเจ้าฟ้ามยินซายง์ อูโอตมะและอูธองได้สะสมกำลังคนและอาวุธเพื่อเตรียมต่อสู้กับอังกฤษ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428 กองกำลังนี้ได้โจมตีอังกฤษที่ซากู อังกฤษได้ตีโต้จนกำลังฝ่ายพม่าต้องถอยไป ฝ่ายของอูโอตมะต้องล่าถอยไปที่ปอก จัดตั้งกองกำลังขึ้นใหม่ และร่วมมือกับโบส่วย
อังกฤษเริ่มโจมตีกองกำลังของอูโอตมะเมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2429 แม้จะฆ่าทหารอังกฤษได้แต่ฝ่ายของอูโอตมะได้ย้ายฐานที่มั่นไปยังมินบู อังกฤษพยายามเข้าไปเกลี้ยกล่อมหัวหน้าในระดับรองลงมาในกองทัพของอูโอตมะ ในที่สุดมีทหารของอูโอตมะ 1,204 คนยอมมอบตัวต่ออังกฤษ และอูโอตมะถูกจับในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2432 ที่ละกายง์
การต่อต้านในพม่าตอนล่าง
[แก้]หลวงพ่อวัดมยันชอง
[แก้]หลวงพ่อวัดมยันชองเป็นชาวไทใหญ่ และเป็นกลุ่มแรกที่ก่อการต่อต้านในพม่าตอนล่างโดยได้รับพระบรมราชโองการจากพระเจ้าสีป่อก่อนจะเกิดสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 3[3][12] หลวงพ่อวัดมยันชองได้นำทหารเข้าโจมตีสิตตัง วินบาดอว์และการาเวเมื่อ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2428 ในวันต่อมา กลุ่มนี้ได้ตัดสายโทรเลขที่ทะเยะต์ทาเมนและเข้ายึดบิลิน และมีจอกจีเป็นที่มั่น ในที่สุดกองกำลังของหลวงพ่อวัดมยันชองถูกตีแตกที่จอกจี กองกำลังของหลวงพ่อวัดมยันชองหนีขึ้นเหนือไปยาทอง อังกฤษปราบปรามกลุ่มของหลวงพ่อวัดมยันชองอย่างหนัก จนหลวงพ่อวัดมยันชองถูกจับกุมได้เมื่อ 10 มีนาคม พ.ศ. 2428 และถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอที่หน้าสถานีตำรวจจายก์โต
การต่อต้านในเขตเทือกเขาฉาน
[แก้]เจ้าฟ้าลิมบิน
[แก้]เจ้าฟ้าและเมียวซาในฉานได้รวมกลุ่มกันโดยมีเจ้าฟ้าลิมบินเป็นหัวหน้าสมาพันธ์เพื่อต่อต้านพระเจ้าธีบอ[13] จนหลังจากมัณฑะเลย์แตกจึงได้หันมาต่อต้านอังกฤษ อังกฤษพยายามเข้ามาเกลี้ยกล่อมเจ้าฟ้าไทใหญ่ให้ร่วมมือกับอังกฤษ กลุ่มของเจ้าฟ้าลอกสอกและเจ้าฟ้าเมืองนายได้ต่อสู้กับอังกฤษอย่างแข็งขัน แต่ภายหลังเกิดความแตกแยกกันเองภายในกลุ่ม โดยมีเจ้าอ่อนแห่งเมืองยองห้วยที่เข้าร่วมกับอังกฤษเป็นกำลังสำคัญในการร่วมมือกับอังกฤษเพื่อปราบปรามเจ้าฟ้าลิมบิน[3] ในที่สุด เจ้าเมืองไทใหญ่ต่างยอมจำนนต่ออังกฤษ เจ้าฟ้าลิมบินถูกจับตัวและถูกส่งไปอยู่กัลกัตตา ได้กลับมาอยู่ย่างกุ้งอีกครั้งใน พ.ศ. 2464 จนสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2476
การต่อต้านในเขตภูเขากะชีน
[แก้]อูโปซอว์
[แก้]อูโปซอว์ได้จัดตั้งกลุ่มโจมตีกองทัพอังกฤษโดยได้รับการสนับสนุนจากชาวกะชีนมาก เขาเริ่มต่อต้านอังกฤษใน พ.ศ. 2431 หลังจากที่อังกฤษมาถึงโมกองและสำรวจแหล่งแร่หยก เขายึดครองโมกองไว้ได้เมื่อ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2431 อังกฤษได้โจมตีโมกองอย่างหนักในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2431 กองกำลังของอูโปซอว์ถูกปราบได้ใน พ.ศ. 2432
เจ้าฟ้าหวุ่นโธ
[แก้]อูส่วยทาได้เป็นเจ้าฟ้าหวุ่นโธตั้งแต่ พ.ศ. 2409 และได้มอบตำแหน่งให้ลูกชายคืออูอ่องมยัตใน พ.ศ. 2424 ทั้งพ่อและลูกต่างจงรักภักดีต่อราชวงศ์คองบอง เมื่ออังกฤษตีมัณฑะเลย์แตก อูอ่องมยัตปฏิเสธที่จะมอบตัวและได้ต่อต้านอังกฤษ การต่อต้านอย่างเปิดเผยเกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2433 อังกฤษพยายามกดดันจนเข้ายึดเมืองหลวงของหวุ่นโธได้เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ สองพ่อลูกต้องลี้ภัยไปยูนนาน การต่อต้านจึงสงบลง
การต่อต้านในเขตภูเขาชีน
[แก้]ชนเผ่าชีน
[แก้]เผ่าตาชอนเป็นเผ่าที่มีอิทธิพลมากในบรรดาชาวชีน อังกฤษเริ่มขยายอิทธิพลเข้าไปในชีนเมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2429 โดยอังกฤษพยายามเข้าไปเจรจาและลดความสำคัญทางทหารของเผ่าต่าง ๆ กลุ่มที่เคยต่อต้านอังกฤษในพม่าหลายกลุ่มได้หนีมาอยู่กับเผ่าตาชอน เช่น เจ้าฟ้าชเวโจบะยู ในที่สุดชนเผ่าต่าง ๆ ของชีนรวมตัวกันต่อต้าน อังกฤษได้ส่งกองทหารเข้าไปเมื่อ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2431 โดยแบ่งเป็นกองทัพฝ่ายเหนือและใต้ ในที่สุดผู้นำของชาวชีนกลุ่มสุดท้ายคือไข่กำ ผู้นำเผ่าสิยินยอมมอบตัวใน พ.ศ. 2437[3]
หลังจากนั้น
[แก้]กลุ่มต่อต้านต่าง ๆ ในพม่าไม่ได้รวมกันเป็นเอกภาพ แต่เป็นลักษณะการตอบสนองต่อเหตุการณ์หลังการล่มสลายโดยฉับพลันของราชวงศ์คองบอง กลุ่มต่อต้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มขนาดเล็ก ไม่มีการจัดองค์กรที่ดี และมีเป้าหมายเพียงต่อสู้กับกองกำลังต่างชาติที่รุกรานแผ่นดิน เป็นภัยต่อศาสนาและพระมหากษัตริย์ การที่อังกฤษสามารถปราบปรามกลุ่มเหล่านี้ได้เพราะ อังกฤษมีวิธีการรบที่ดี มีประสบการณ์ในการรบและการยึดครองมากกว่า มีอาวุธและเครื่องจักรกลมากกว่า หลังจากนี้ จะมีเพียงการต่อต้านจากชาวกะชีนเพียงเล็กน้อยจนถึง พ.ศ. 2457- 2458
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Myint, Ni Ni (1983). Burma's Struggle Against British Imperialism. Burma: The Universities Press Rangoon. p. 243.
- ↑ Maung, Htin Aung (1965). The Stricken Peacock. The Hague: Martinus Nijhoff.
- ↑ 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 นินิเมียนต์. พม่ากับการต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษ ค.ศ. 1885 – 1893 แปลโดย ฉลอง สุนทราวาณิชย์. กทม. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 2543
- ↑ . File NP: National Archives Department, Rangoon. 1886.
{{cite book}}
:|title=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ Duffferin Papers. Burma: MIC 22/Reel48. 1886. p. 278.
- ↑ Burma Proceedings, Proceeding No. 2. Upper Burma: Foreign Department. 1887.
- ↑ U B Home (Misc Dept). Burma. October 1886.
- ↑ Burma Home Proceeding. Crosthwaithe Pacification. July 1886.
- ↑ Administration of Burma. Upper Burma: Gazetteer of Upper Burma. 1887–1888.
- ↑ Maung, Tha Aung; Maung Mya Din (1941). "Pacification of Upper Burma: A Vernacular History". Journal of Burma Research Society. XXXI.
- ↑ Report on Administration of Burma, 1888–1889. Gazetteer of Upper Burma. 4 October 1889.
- ↑ BHP. February 1886.
- ↑ Upper Burma Proceedings (Foreign Department), Proceeding No. 3 Enclosure 2 (3). Burma. 14 October 1886.